ร้านขายจักรเย็บผ้าเชียงราย,ขายจักรอุตสาหกรรม,ร้านขายจักรเชียงราย,ขายจักรเย็บผ้า,ขายจักรอุตสาหกรรม,ร้านขายจักรอำเภอเทิง
http://www.jakputorn.com
สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com

 หน้าแรก

 สินค้า

 กิจกรรม

 เว็บบอร์ด

facebook

 ติดต่อเรา

วีดีโอซ่อมตั้งค่ามอเตอร์และจักรอุตสาหกรรมจักรเย็บผ้า

จักรเย็บผ้า จักรอุตสาหกรรม

บริการ

ประวัติของการคิดค้นประดิษฐ์จักรเย็บผ้า

ประวัติของการคิดค้นประดิษฐ์จักรเย็บผ้า



คนแรกที่คิดค้นเป็นชาวอังกฤษ ชื่อ นายโทมัส เวนท์ ปี พ.ศ.2333 (ค.ศ.1790)  การคิดค้นของเวนท์สมัยนั้นจุดประสงค์เพื่อใช้เย็บหนัง แต่ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร
                ต่อมาปี พ.ศ.2374 (ค.ศ.1831)  นายบาร์เซเลนี ทิมโมนิแอร์ ช่างตัดเสื้อชาวฝรั่งเศสผู้ยากจน ได้คิดสร้างจักรเย็บผ้า  ซึ่งมีรูปลักษณะคล้ายคลึงกับจักรเย็บผ้าในปัจจุบัน  แต่เป็นที่น่าเศร้าอย่างมากเพราะคนงานรับจ้างกลัวจะตกงาน  จึงได้บุกทำลายโรงงานและเครื่องจักรเย็บผ้าดังกล่าวจนเสียหาย  และทิมโมนิแอร์ก็ได้เสียชีวิตในโรงงาน
                ในขณะเดียวกันทางสหรัฐอเมริกา  นายวอลเตอร์ ฮันท์ ก็ได้คิดค้นและสร้างจักรเย็บผ้า  ซึ่งมีเข็มโค้งและมีตาเข็มที่ปลายเข็ม  ซึ่งเป็นตัวนำด้ายบนลงไปคล้องด้ายล่างผ่านกระสวย ซึ่งมีด้ายอีกเส้นหนึ่ง  แต่น่าเสียดายฮันท์ไม่ได้ขอจดทะเบียนไว้  ดังนั้นในปี พ.ศ.2394 (ค.ศ.1851)  นายอีเลียดโฮว์ จึงได้รับเกียรติเป็นคนแรกในการขอจดลิขสิทธิ์จักรเย็บผ้าเป็นคันแรก
                ต่อมาในสมัยเดียวกัน นายไอแซค ซิงเกอร์ ได้จดทะเบียนจักรเย็บผ้าในแบบของตน จึงเกิดปัญหาว่า ใครจะเป็นผู้ขอจดทะเบียนลิขสิทธิ์ก่อน  ในที่สุดนายอีเลียดโฮว์ เป็นฝ่ายชนะ
                จักรซิงเกอร์เป็นที่แพร่หลายในทวีปยุโรป, อเมริกา, ออสเตรเลีย และเอเชีย  ส่วนพาฟฟ์ก็เป็นจักรที่แพร่หลายอยู่ในบ้านเรา  ตามประวัติมีการค้นพบในปี พ.ศ.2405 (ค.ศ.1862) ในปัจจุบันเป็นจักรเย็บผ้าที่มีเทคโนโลยีสูงมาก
จักรอุตสาหกรรมและการใช้งาน
                จักรอุตสาหกรรม (Industrial Sewing Machine)  คือจักรที่ใช้สำหรับเย็บสิ่งทอ, หนัง, หนังเทียม, กระดาษ และ อื่นๆ
คุณลักษณะทั่วไป  มีโครงสร้างที่แข็งแรงและมีลักษณะแตกต่างกันออกไป   เพื่อความเหมาะสมกับประเภทของงานที่จะใช้เย็บ  เช่น
ก.  ฐานแบน (Flat Bed)
ข.  ฐานกระบอก (Cylinder Bed)
ค.  ฐานทรงแท่น (Post Bed)
                มีความเร็วซึ่งนับจากจำนวนของฝีเข็มต่อนาที  ระหว่าง 600 – 6,000 ฝีเข็มต่อนาที(Stitch per minute (s.p.m.)) จักรเย็บผ้าอุตสาหกรรมบางประเภทมีความเร็วสูงถึง 10,000 s.p.m.
                ระบบการหล่อลื่น
-          ชนิดที่ต้องหยอดด้วยมือ (Manual Oiling)
-          ชนิดกึ่งอัตโนมัติ  (Semi Automatic)
-          ชนิดอัตโนมัติทุกจุด (Fully Automatic)
ประเภทของจักรอุตสาหกรรม   แบ่งออกเป็น
1.  จักรอุตสาหกรรมประเภทฝีเข็มธรรมดา (Lockstitch – stitch type 301)
2.  จักรอุตสาหกรรมประเภทฝีเข็มลูกโซ่ (Chainstitch)
      2.1  ฝีเข็มลูกโซ่เดี่ยว (Single Chain – stitch type 101)
      2.2  ฝีเข็มลูกโซ่คู่ (Double Chain – stitch type 401)
3.  จักรอุตสาหกรรมประเภทฝีเข็มพันริม (Overlockstitch)
4.  จักรอุตสาหกรรมประเภทฝีเข็มถักประสาน (Interlockstitch)
ระบบฟันส่ง (Feed System)
                จักรอุตสาหกรรมมีระบบฟันส่งหลายชนิด  แต่ละชนิดมีคุณสมบัติแตกต่างกันออกไป จะขอกล่าวเฉพาะที่ใช้งานแพร่หลายในปัจจุบัน
                1.  ระบบฟันส่งธรรมดา (Drop Feed)  เป็นระบบฟันส่งของจักรทั่วไปชนิดเคลื่อนขึ้นลง
                2.  ระบบเข็มส่ง (Needle Feed)  ในขณะที่สิ่งที่ถูกเย็บเคลื่อนส่งไปด้านหน้า  เข็มจะเคลื่อนไปพร้อมกับสิ่งที่ถูกเย็บ  ซึ่งจะช่วยให้การเย็บซ้อนกันตั้งแต่ 2 ชั้นขึ้นไป มีฝีเข็มที่สม่ำเสมอ 
                3.  ระบบฟันและเข็มส่ง (Compound Feed)  ในขณะที่สิ่งที่ถูกเย็บเคลื่อนไปด้านหน้า ฟันและเข็มจะทำงานพร้อมกัน (Synchronization) ซึ่งจะช่วยให้การเหลื่อมกันของชั้นผ้าลดน้อยลงหรือหมดไป 
                4.  ระบบฟัน, เข็ม และตีนทับผ้าส่ง (Unison Feed)  ระบบนี้คล้ายคลึงกับ Needle Feedต่างกันตรงที่  จักรแบบนี้มีตีนทับผ้า  2 ตัว  ตัวหนึ่งทำหน้าที่กดสิ่งที่ถูกเย็บให้เคลื่อนไปข้างหน้าเพื่อทำฝีเข็ม  ตีนผีอีกตัวจะยกขึ้นทำงานสลับกันไป  จักรแบบนี้สร้างขึ้นเพื่อช่วยแก้ปัญหาในการเย็บหนังที่มีความยุ่งยากในการเย็บ
                5.  Drop Feed and Variable Top Feed  มีระบบฟันส่งข้างบนและล่างเป็นอิสระ สามารถปรับความเหมาะสมเพื่อการเย็บสิ่งทอที่มีความหยืดหยุ่นไม่เท่ากัน 
                6.  Differential Bottom Feed  ระบบฟันส่งที่สามารถปรับให้ฟันหน้าและฟันหลังเดินต่างกัน  เพื่อประโยชน์ในการเย็บย่นชั้นล่างหรือเย็บผ้ายืด (Knitted Fabric) และผ้าเจอร์ซี่ (Jersey)
                7.  Differential Bottom Feed and Variable Top Feed  มีระบบฟันบนและล่างสามารถปรับเพื่อการเย็บย่นชิ้นบนและชิ้นล่าง  หรือใช้เย็บสิ่งทอที่มีความยุ่งยากในด้านการใช้จักรระบบธรรมดาเย็บและสามารถเย็บเพื่อขจัดรอยย่นของฝีเข็มได้ด้วย
จักรฝีเข็มธรรมดา (Lockstitch) 
มีระบบกระสวย 2 ชนิด
ก.  กระสวยหมุนไปกลับ    (Oscillating Shuttle or Barrel Shuttle)
ข.  กระสวยหมุนรอบ (Rotary)
                     ข.1  กระสวยหมุนรอบแนวนอน (Horizontal Rotary Hook)
                     ข.2  กระสวยหมุนรอบแนวตั้ง (Vertical Rotary Hook)
                จักรฝีเข็มธรรมดา มี 2 ชนิด  แบ่งเป็น
                ก.  จักรฝีเข็มธรรมดา เข็มเดี่ยว (Single Needle)
ข.  จักรฝีเข็มธรรมดา เข็มคู่  (Double Needle)
และยังแบ่งเป็น
จักรฝีเข็มธรรมดา  ฝีเข็มซิกแซ็ก  (Lockstitch Zig Zag)  มีทั้งเข็มเดี่ยวและเข็มคู่  แยกเป็นชนิดต่างๆ เช่น ฝีเข็มซิกแซ็กจุดเดียว, ฝีเข็มซิกแซ็กธรรมดา, ฝีเข็มซิกแซ็กสองจุดและสามจุด และยังสามารถให้ลวดลายของฝีเข็มต่างๆได้อีกด้วย      
จักรฝีเข็มธรรมดา  แบบระบบอัตโนมัติเฉพาะจุด  เช่น จักรทำตัวหนอน (Bartacker), จักรถักรังดุมอัตโนมัติ (Buttonholer), จักรติดกระดุมอัตโนมัติ (Button Sewer)
จักรฝีเข็มลูกโซ่ (Chainstitch) มี 2 ชนิด
ก.  จักรฝีเข็มลูกโซ่เส้นเดี่ยว (Single Chain)  ใช้ด้าย 1 เส้น
ข.  จักรฝีเข็มลูกโซ่เส้นคู่ (Double Chain)  ใช้ด้าย 2 เส้น
จักรฝีเข็มลูกโซ่มีตั้งแต่เข็มเดี่ยวจนกระทั่ง 36 เข็ม หรือ มากกว่า ขึ้นอยู่กับความต้องการของอุตสาหกรรมการผลิต  ในปัจจุบันจักรฝีเข็มลูกโซ่ 36 เข็มใช้กันแพร่หลายในโรงงานอุตสาหกรรมการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปประเภทฝีเข็มสม็อค (Smocking Machine)หรือ โรงงานอุตสาหกรรมการผลิตกางเกงยีนส์  เช่น ขอบเอวกางเกง, เย็บเข้าเป้ากางเกง, เย็บเข้าข้างกางเกง เป็นต้น
จักรฝีเข็มพันริม (Overlockstitch)
จักรฝีเข็มพันริมมีตั้งแต่เข็มเดี่ยวจนกระทั่ง 3 เข็ม  สำหรับใช้เย็บในขบวนการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปซึ่งใช้ผ้ายืด (Knitted Fabric) ในการผลิต  และมีเป็นส่วนน้อยที่นำไปใช้กับผ้าทอ(Woven Fabric)  มีทั้งเข็มตรงและเข็มโค้ง (Straight Needle and Curve Needle)
                จักรฝีเข็มพันริม เข็มเดี่ยวใช้ด้าย 2 เส้น (Stitch Type 503) สำหรับพันริมกันลุ่ยและเย็บพับสอยชายเสื้อยืด
จักรฝีเข็มพันริม เข็มเดี่ยวใช้ด้าย 3 เส้น (Stitch Type 504) สำหรับเย็บพันริมกันลุ่ยทั่วไป
จักรฝีเข็มพันริม เข็มเดี่ยวใช้ด้าย 3 เส้น (Stitch Type 505) สำหรับเย็บพับสอยชายเสื้อยืดและปลายแขน
จักรฝีเข็มพันริม 2 เข็มใช้ด้าย 4 เส้น (Stitch Type 514) สำหรับเย็บเข้าแขนและเข้าข้างเสื้อยืด
จักรฝีเข็มพันริม 2 เข็มใช้ด้าย 5 เส้น (Stitch Type 516) ซึ่งประกอบด้วยฝีเข็มพันริมเข็มเดี่ยวใช้ด้าย 3 เส้น กับ ฝีเข็มลูกโซ่คู่ใช้ด้าย 2 เส้น (Stitch Type 504 + 402)  ในการค้าเรียกว่า“Safety Stitch” สำหรับเย็บเข้าแขนและเข้าข้างเสื้อเชิ้ต  และเย็บเข้าข้างกางเกงได้ด้วย
จักรฝีเข็มพันริม 3 เข็มใช้ด้าย 6 เส้น  ซึ่งประกอบด้วยฝีเข็มพันริม 2 เข็มใช้ด้าย 4 เส้นบวกกับ ฝีเข็มลูกโซ่คู่ใช้ด้าย 2 เส้น (Stitch Type 514 + 402)  ในทางการค้าเรียกว่า “Safety Stitch” สำหรับเย็บประกอบชุดกีฬา  เช่น ชุดวอร์ม เป็นต้น
จักรฝีเข็มถักประสาน (Interlockstitch)
จักรฝีเข็มถักประสาน เริ่มจาก 2 เข็ม ถึง 4  เข็ม  มี 2 ชนิด
ก. ฝีเข็มถักประสานชนิดไม่มีโรยด้านบน (Without Cover Thread) แบ่งเป็น
2 เข็ม ใช้ด้าย 3 เส้น (Stitch Type 406)  สำหรับกุ้นคอเสื้อยืด เสื้อกล้าม กุ้นขอบขากางเกงชั้นใน เป็นต้น
3 เข็ม ใช้ด้าย 4 เส้น (Stitch Type 407)  สำหรับกุ้นคอเสื้อยืดและเสื้อกล้าม
4 เข็ม ใช้ด้าย 5 เส้น (Stitch Type 408)  สำหรับเย็บเทปปิดส่วนหน้าของกางเกงชั้นในชาย
ข.  ฝีเข็มถักประสานชนิดมีโรยด้านบน (With Cover Thread) แบ่งเป็น
2 เข็ม ใช้ด้าย 4 เส้น (Stitch Type 602)  
3 เข็ม ใช้ด้าย 5 เส้น (Stitch Type 605)  
4 เข็ม ใช้ด้าย 6 เส้น (Stitch Type 607)
            ฝีเข็มถักประสานดังกล่าวมีใช้ในโรงงานผลิตเสื้อยืด, ชุดชั้นในทั้งของบุรุษและสตรี (ฝีเข็มแบบ 607)
                ปัญหาของจักรอุตสาหกรรมแต่ละประเภท
                ปัญหาที่เกิดขึ้นในการเย็บเป็นประจำ คือ ปัญหาเรื่องการใช้เข็มและการใช้เส้นด้ายในการเย็บ  บางโรงงานต้องการประหยัด จึงใช้ด้ายราคาถูก คุณภาพต่ำ และอาจไม่สมดุลกับวัตถุดิบที่ถูกเย็บ  เป็นเหตุให้ด้ายขาดบ่อย  หรือใช้เข็มที่ไม่ได้มาตรฐาน  ทำให้หักบ่อยหรืององ่าย   ขนาดของเข็มที่ใช้อาจไม่เหมาะสมกับวัตถุดิบที่เย็บ  หรืออาจเป็นเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์โดยใช้เข็มไม่ถูกชนิดของจักรนั้นๆ  ฯลฯ
                การใช้เข็มและด้ายจึงนับว่ามีความสำคัญมาก  ควรจดจำและใช้ความสังเกตุเพราะจักรแต่ละประเภทจะมีเข็มที่ใช้ไม่เหมือนกัน  เข็มที่ใช้กับจักรอุตสาหกรรมธรรมดา  ขนาดความยาวอาจเท่ากันแต่บางชนิดก้านเข็มอาจไม่เท่ากัน  มีทั้งก้านเล็กและก้านใหญ่  และบางชนิดอาจมีความยาวไม่เท่ากัน  ผู้จำหน่ายจักรแต่ละยี่ห้อจะเป็นผู้บอกเราเองว่าจักรยี่ห้อที่เขาขายนั้นใช้เข็มชนิดใด เป็นต้น
                ด้ายที่ใช้เย็บโดยเฉพาะด้ายเข็มควรเป็นด้าย 3 เกลียวและเป็นเกลียวซ้าย  ขนาดของด้ายที่ใช้กับเข็มจะต้องสัมพันธ์กันและเหมาะสมกับวัตถุที่เย็บ  เช่น ผ้าบางอย่างเสื้อเชิ้ตควรใช้เข็มเบอร์ 10 และด้ายที่เย็บควรเป็นเบอร์ 80  (Cotton) เป็นต้น   ฝีเข็มที่ออกมาจะสวยสม่ำเสมอเพราะรูปแบบของฝีเข็มจะสม่ำเสมอนั้นขึ้นอยู่กับการใช้ด้ายและเข็มที่เหมาะสม
                การปรับความตึงหย่อนของเส้นด้ายก็เช่นกัน  พนักงานเย็บควรสามารถปรับเองได้โดยไม่ต้องพึ่งพาช่างซ่อมจักรและทุกครั้งที่เกิดปัญหาขึ้นกับจักร  ควรให้ช่างผู้ชำนาญเป็นผู้วินิจฉัยหาสาเหตุและแก้ไข
                การเย็บก็มีส่วนสำคัญ  พนักงานเย็บควรได้รับการอบรมให้รู้จักการเย็บที่ถูกวิธี  ไม่ให้ดึงหรือรั้งชิ้นงานขณะเย็บเพราะอาจเป็นสาเหตุให้เข็มหักหรืองอก่อนเวลาอันควร  ควรเย็บให้เป็นไปโดยวิธีธรรมชาติ
การบำรุงรักษาให้จักรอยู่ในสภาพที่ใช้งานได้

1.   การหยอดน้ำมันหล่อลื่น  ควรหยอดเล็กน้อยและสม่ำเสมอเพื่อลดการสึกหรอให้น้อยลง  หากการหล่อลื่นเป็นระบบอัตโนมัติ  ควรมีการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันหล่อลื่นตามเวลาที่กำหนด
2.  ควรรักษาเครื่องจักรให้สะอาดอยู่เสมอเพราะเศษผงและฝุ่นอาจเป็นเหตุให้เครื่องจักรชำรุดและทำให้ชิ้นงานที่เย็บสกปรก  และถ้าหากฝุ่นผ้าไปสะสมอยู่ที่ใต้แผ่นฟันและซอกฟันมากๆ อาจเป็นสาเหตุให้แป้นฟันหักได้
3.  หากมีชิ้นส่วนใดเกิดหักหรือชำรุด  ควรให้ช่างรีบเปลี่ยน  ไม่ควรทนใช้ทั้งๆ ที่มีชิ้นส่วนหักหรือชำรุด  จะทำให้ฝีเข็มออกมาไม่ได้มาตรฐาน

Tags : ประวัติจักรเย็บผ้า

view
view